ไม้ไผ่พืชเศรษฐกิจ

ปลูกไผ่บงหวาน มีรายได้เฉลี่ยต่อไร่ 75,000 บาท


ปลูกไผ่บงหวาน มีรายได้เฉลี่ยต่อไร่ 75,000 บาท

การปลูกไผ่เพื่อขายหน่อจัดเป็นรูปแบบเกษตรกรรมอินทรีย์และปลอดสารพิษ เนื่องจากมีการใช้สารเคมีน้อยมากหรือไม่ได้ใช้เลย นอกจากนั้นการปลูกไผ่ยังช่วยลดโลกร้อนได้ดีกว่าต้นไม้หลายชนิด อย่างกรณีของ คุณวรรณบดี และ คุณลำพึง รักษา เกษตรกร อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่

ซึ่งเริ่มจากการปลูกพืชผักและไม้ผลหลายชนิดและหนึ่งในนั้นคือปลูกไผ่บงหวาน เมื่อต้นไผ่บงหวานมีหน่อจำหน่ายได้ปรากฏว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ด้วย ลักษณะเด่นอยู่ที่หน่อไผ่มีรสชาติหวาน สามารถกินเป็นหน่อไม้ดิบเหมือนผักสดและไม่ขมติดลิ้นเหมือนหน่อไม้ไผ่พันธุ์ อื่น ๆ นำไปประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู อาทิ ต้มจิ้มน้ำพริก ผัดน้ำมันหอย ชุบแป้งทอด และต้มจืดกระดูกหมู เป็นต้น

ปัจจุบันรวมญาติพี่น้องขยายพื้นที่ปลูกไผ่บงหวานจำนวน 33 ไร่ คุณวรรณบดียังได้บอกถึงเทคนิคในการบริโภคไผ่บงหวานให้ได้รสชาติอร่อยจะต้อง ต้มน้ำให้เดือดแล้วค่อยใส่ไผ่บงหวานลงไปในน้ำเดือดเฉลี่ย 5-7 นาทีเท่านั้น นำมารับประทานได้เลยไม่ต้องต้มน้ำทิ้ง

หน่อไม้ ของ ต้นไผ่บงหวาน

ปัจจุบันเป็นที่สังเกตว่าในการปลูกไผ่บงหวานของสวนไผ่หวานเพชรน้ำผึ้งนั้นคุณวรรณ บดี ได้นำเมล็ดพันธุ์มาเพาะเมื่อ ปี พ.ศ. 2549 ลักษณะประจำพันธุ์เป็นไผ่ขนาดกลาง ลำต้นเมื่อโตเต็มที่มีความสูงเฉลี่ย 7-12 เมตร หน่อที่เก็บจากต้นที่เจริญเติบโตเต็มที่จะมีน้ำหนัก 4-5 หน่อต่อกิโลกรัม ระยะที่ใช้ปลูกระหว่างต้น 2 เมตร ระหว่างแถว 4 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ปลูกได้ 200 ต้น ในเรื่องของการดูแลรักษาเพื่อที่จะผลิตไผ่บงหวานนอกฤดูนั้น ในแต่ละปีจะต้องมีการตัดแต่งต้นเก่าแก่ออกปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเดือนพฤศจิกายนโดยนำไม้ไผ่ไปใช้ทำไม้ค้ำยันต้นไม้ผล ที่เหลือนำไปเผาเป็นถ่านไม้ไผ่เพื่อใช้ในครัวเรือน ส่วนใบและกิ่งไผ่ทิ้งไว้ในแปลงปลูกไผ่ เพื่อให้จุลินทรีย์ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยให้กับต้นไผ่ต่อไป

ในช่วงฤดูฝนจะปล่อยให้หน่อไผ่แทงขึ้นเป็นลำ หนึ่งกอปล่อยให้ขึ้นเป็นลำเฉลี่ย 8-12 ลำ เพื่อเป็นลำแม่ที่จะให้หน่อในฤดูถัดไป ลำที่ขึ้นใหม่มามักจะแขนง ออกตามข้อ เกษตรกรจะต้องหมั่นตัดแขนงทิ้ง ด้วยสวนไผ่แห่งนี้มีการจัดการระบบการให้น้ำที่ดีสามารถให้น้ำได้ตลอดทั้งปี สามารถเก็บหน่อไผ่บงหวานได้ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม ของทุกปีและขายจากสวนได้ราคากิโลกรัมละ 50 บาท สำหรับหน่อไผ่ที่ออกในฤดูระหว่าง เดือนมิถุนายน-ตุลาคม ขายจากสวนได้ราคากิโลกรัมละ 35 บาท สรุปได้ว่าในแต่ละปีคุณวรรณบดีจะเก็บหน่อไผ่บงหวานได้เกือบตลอดทั้งปีเว้น เฉพาะเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมเท่านั้น ในพื้นที่ปลูกไผ่บงหวาน 1 ไร่ จะมีรายได้จากการขายหน่อเฉลี่ย 75,000 บาท

ปัจจุบันสวนไผ่แห่งนี้ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จ.แพร่ ได้สนับสนุนให้เป็นศูนย์เรียนรู้ของเกษตรกรโดยทั่วไป.

ข้อมูลจาก dailynews

ไผ่บงหวานเมืองเลย

ไผ่บงหวานเมืองเลย
เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่สำคัญอีกชนิดที่น่าให้ความสนใจและจับตามองในวันนี้ด้วยรสชาติที่ผู้คนกำลังนิยมรับประทานและเป็นที่ต้องการของตลาด ลักษณะพิเศษของไผ่ชนิดนี้จะออกหน่อดกมาก มีความหอมกรุ่น เนื้อละเอียด ไม่มีเสี้ยน หวานมัน กรอบ อร่อยคล้ายยอดมะพร้าว รับประทานสดได้ ไม่มีขื่นเหมือนไผ่ชนิดอื่นๆ ประโยชน์ของไผ่บงหวานมีหลายอย่างเช่น ทางโภชนาการใช้ประกอบเป็นอาหารได้ทั้งประเภท แกง ผัด ต้ม ลำ ใช้ประโยชน์ในการทำเป็นเครื่องจักสาน ใช้สอยในครัวเรือน ใช้ ทำเป็นทีพักอาศัย เถียงไร่ เถียงนา ทำเป็นค้างในแปลงผัก หน่อนำมารับประทานได้ อีกทั้งให้ความร่มเงา ลดสภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย


ไผ่บงหวาน มีชื่อพื้นเมืองว่า ไผ่หวาน หรือ ไผ่บงหวาน ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Bambusa Sp. ชื่อวงศ์ Gramineaeพบมากในทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะที่จังหวัดเลย จะพบไผ่หวานที่จัดว่ามีคุณภาพดีที่สุด เป็นไผ่ขนาดเล็กถึงขนาดกลางลักษณะกอหุ้มแน่น ลำต้นมักคดงอ เนื้อในตันไม่กลวงแตกกิ่งประมาณ 2-5 กิ่งตลอดลำ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-5ซม. สูงประมาณ 5-7 เมตรหน่อของไผ่หวานมีลักษณะเล็ก หน่อมีสีเขียวหนักประมาณ 200-300กรัม

สวน ไผ่บงหวานคุณราตรี ได้ผลิตกล้า พันธุ์ไผ่บงหวาน ออกจำหน่าย ให้กับผู้สนใจ ปลูกเป็นสวนขนาดใหญ่ หรือปลูกแบบพอเพียงเพื่อบริโภคในครัวเรือน ทางสวนมุ่งหวังจะรักษาสายพันธุ์ท้องถิ่นดั้งเดิมเอาไว้อย่างเหนียวแน่น และกระจายสายพันธุ์ไปทั่วทุกภูมิภาค โดยส่งเสริมแก่ผู้สนใจนำไปปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต สร้างรายได้อย่างมั่นคง ได้รับความสนใจจากเกษตรกรทั่วไปเป็นอย่างมากในขณะนี้ และ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อการลงทุนที่สุดทางสวนจึงใช้วิธี ขุดเพาะชำเหง้าแยกจากต้นแม่ที่ปลูกด้วยเมล็ดอายุเพียง 4 ปี เนื่องจากวิธีนี้ ไผ่บงหวานจะโต และออกหน่อได้เร็วกว่าวิธีการปลูกด้วยเมล็ดเป็นปีเลยทีเดียว มีอายุการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ยาวนาน 50-60 ปี การรู้อายุต้นแม่ที่แน่นอนจะช่วย ประหยัดค่าใช้จ่าย เวลา และแรงงานได้มาก

การปลูกไผ่บงหวาน
ฤดูที่เหมาะสม ควรปลูกช่วงต้นฤดูฝน หรือราวเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม แต่หากมีระบบน้ำที่ดีและเพียงพอ ไผ่บงหวานสามารถปลูกได้ทั้งปี การเตรียมพื้นที่หากมีต้นไม้โตควรตัดโค่นไม้ใหญ่ออก เพราะจะไปแย่งอาหารจากไผ่ ถ้าได้พื้นที่ใกล้แหล่งน้ำจะดีมาก เพราะไผ่เป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก แต่ไม่ชอบน้ำขัง เริ่มโดยการไถดะ ไถพรวน ตากดินไว้สัก 7- 10 วัน เพื่อฆ่าเชื้อ แล้วขุดหลุมขนาด 30 x 30 x 30 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุมขึ้นอยู่กับเกษตรกรต้องการดังนี้
2 x 2 เมตร จะใช้ต้นพันธ์ 400 ต้นต่อไร่
2.5 x 2.5 เมตร จะใช้ต้นพันธ์ 289 ต้นต่อไร่
3 x 3 เมตร จะใช้ต้นพันธ์ 169 ต้นต่อไร่ (แนะนำระยะนี้เหมาะสมที่สุด)
3.5 x 3.5 เมตร จะใช้ต้นพันธ์ 131 ต้นต่อไร่
4 x 4 เมตร จะใช้ต้นพันธ์ 100 ต้นต่อไร่
5 x 5 เมตร จะใช้ต้นพันธ์ 64 ต้นต่อไร่
วิธีการปลูก รองก้นหลุมด้วยดินที่ขุดขึ้นมาคลุกเคล้ากับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก แล้วนำกล้า พันธุ์ไผ่ ลงวาง ฉีกถุงพลาสติกออก กลบดินจนพูนเมื่อดินยุบตัวแล้วจะเสมอกับพื้นที่ปลูกพอดี

การขยายพันธุ์

ไผ่บงหวาน สามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศ และไม่อาศัยเพศ ส่วนวิธีที่เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับชนิด พันธุ์ และรูปแบบของการเจริญเติบโต สำหรับวิธีการขยาย พันธุ์ไผ่ ที่นิยมทำกันโดยทั่วไปนั้นมีอยู่ 5 วิธี คือ

1. การขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด มีวิธีการโดยการจัดเก็บเมล็ดไผ่แก่ที่ร่วงหล่นสู่พื้นดินซึ่งสร้างความมั่นใจได้ว่าเป็นเมล็ดแก่ที่แท้จริงนำไปเพาะโดยการหว่านลงในกระบะเพาะหรือแปลงเพาะที่เตรียมดินไว้แล้วรดน้ำทุกวัน ประมาณ7-10วัน เมล็ดจะเริ่มงอก ประมาณ 3-4สัปดาห์ย้ายกล้าลงชำในถุงพลาสติกขนาด 4”X9” ที่เตรียมดินใส่ไว้รดน้ำทุก2-3วัน ประมาณ2เดือน ก็สามารถนำไปปลูกได้

2. การขยายพันธุ์โดยแยกกอหรือเหง้า วิธีนี้ใช้ได้ผลกับไผ่ทุกชนิด โดยเฉพาะไผ่ที่มีโคนลำค่อนข้างหนา เช่น ไผ่รวก ไผ่เลี้ยง ไผ่หางช้าง อายุของเหง้าที่สามารถผลิตหน่อใหม่ได้ดีคือ เหง้าที่มีอายุ 1 - 2 ปี เนื่องจากตาของเหง้าที่มีอายุมากกว่านี้มักอ่อนแอไม่แข็งแรง การตัดควรตัดให้ตอสูงประมาณ 50 - 80 เซนติเมตร ทำการขุดเหง้าออกจากกอแม่เดิมโดยระวังอย่าให้ตาที่เหง้าเสียหายได้ เพราะตานี้จะแตกเป็นหน่อใหม่ต่อไป วิธีนี้ให้หน่อที่แข็งแรงและได้หน่อเร็วกว่าการขยายพันธุ์โดยการใช้กิ่งแขนงหรือลำ ทั้งยังเป็นวิธีการที่ทำให้ได้ต้นตรงตามสายพันธุ์เดิมมากที่สุด

3. การขยายพันธุ์โดยการใช้ปล้อง กิ่งตัดหรือใช้ลำ การขยายพันธุ์วิธีนี้นิยมใช้กับไม้ไผ่ชนิดที่ไม่ค่อยออกเมล็ด และเป็นไม้ไผ่ที่มีลำค่อนข้างใหญ่ เช่น ไผ่สีสุก ไผ่เหลือง ไผ่ป่า ไผ่ซางดำ เป็นต้น โดยทำการคัดเลือกลำที่มีอายุประมาณ 1-2 ปี เมื่อได้ลำที่ต้องการแล้ว นำมาตัดเป็นท่อนๆ โดยให้แต่ละท่อนมี 1-2 ข้อ ดังวิธีต่อไปนี้
ท่อนที่ใช้ 1 ข้อ จะตัดตรงกลางไม้ไผ่ให้ข้ออยู่ตรงกลาง ตัดให้ห่างจากข้อประมาณ 1 คืบ แล้วนำไปชำในแปลงเพาะชำ ให้ตาหงายขึ้น โดยระวังอย่าให้ตาเป็นอันตราย การชำควรให้ข้ออยู่ระดับดิน แล้วใส่น้ำลงในปล้องที่เหลือเหนือดินหรือวัสดุเพาะชำให้เต็ม
ท่อนที่ใช้ 2 ข้อ เมื่อทำการตัดให้มี 2 ข้อ แล้วเจาะรูตรงกึ่งกลางปล้องเพื่อหล่อน้ำ ทำการริดกิ่งที่ข้อโดยตัดออกให้เหลือเพียง 2 - 3 นิ้ว ระวังอย่าให้ตาที่ข้อปล้องแตกหัก นำไปวางในแปลงชำ โดยฝังลงดินหรือวัสดุเพาะชำประมาณครึ่งของลำ หรือใช้ดินกลบข้อให้มิด เหลือไว้เฉพาะที่น้ำหล่อเท่านั้น
การเพาะชำโดยวิธีการใช้ลำ สามารถชำในแปลงเพาะ ควรทำการปรับหน้าดินในกรณีที่เป็นที่ดอนที่น้ำท่วมไม่ถึง แต่ถ้าพื้นที่ลุ่มควรทำการยกร่องเพื่อมีการระบายน้ำดี หลังจากนั้นจึงทำการย่อยดิน ตากดินทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น ทำหลังคาทางมะพร้าวหรือบังแดด เมื่อชำเสร็จแล้วควรรดน้ำให้ชุ่มทันที หมั่นดูแลรดน้ำทุกวัน หรือวันเว้นวัน หลังจากนั้นประมาณ 2-4 สัปดาห์ จะพบหน่อและรากแตกออกมา ประมาณ 1-2 เดือน จึงทำการเลื่อยลำเก่าออก แล้วจึงย้ายถุงพลาสติกขนาดประมาณ 5 x 8 นิ้ว เพื่อให้สะดวกในการขนย้ายปลูก เมื่อต้นกล้าเจริญเต็มที่จึงค่อยๆ เปิดหลังคาที่คลุมไว้ออก จนกระทั่งสามารถเจริญได้ดีในที่กลางแจ้ง หลังจากนั้นประมาณ 6-8 เดือน กล้าไม้จะแกร่งเต็มที่ จึงทำการย้ายปลูกได้ อย่างไรก็ตามวิธีนี้ก็ยังไม่ค่อยนิยามากนัก เพราะใช้เวลาและเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าวิธีใช้กิ่งแขนง และต้องตัดลำอายุ 1 ปี ซึ่งเป็นลำแม่ที่ควรเลี้ยงเอาไว้ เพื่อให้หน่อใหม่ในปีถัดไป นอกจากนั้นยังนิยมเก็บลำไว้ขายเพื่อประโยชน์อย่างอื่นด้วย

4. การขยายพันธุ์โดยการใช้กิ่งแขนง กิ่งแขนง คือกิ่งที่แตกจากตาบริเวณข้อต่อของลำ การขยายพันธุ์วิธีนี้เป็นที่นิยมกันมากที่สุดเพราะสะดวกรวดเร็วและสามารถตัดชำกิ่งแขนงได้มาก ความสำเร็จในการปักชำโดยใช้กิ่งแขนงขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ไผ่ หากเป็นไม้ไผ่ที่มีรากอากาศบริเวณโคนกิ่ง เช่น ไผ่ตง จะมีความสำเร็จสูง ใช้กับไผ่บงหวานไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก และยังขึ้นอยู่กับการเลือกกิ่งแขนง คือ ปลายฤดูฝนช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม ไปจนถึงได้ ก่อนทำการย้ายปลูกควรนำกล้าไม้ออกวางกลางแจ้งเป็นเวลา 1-2 เดือน เพื่อให้กล้าแกร่งเต็มที่ โดยปกติชาวสวนไผ่ตงมักทำการชำกิ่งแขนงในปลายฤดูฝนแล้วปลูกในต้นฤดูฝนปีถัดไป ซึ่งจะให้เวลาประมาณ 8 เดือน วิธีนี้ทำให้ได้กิ่งพันธุ์ที่แข็งแรงและเปอร์เซ็นต์การรอดตายสูง

5. การขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไม้ไผ่มีวัตถุประสงค์ในการผลิตกล้าไผ่จำนวนมากในระยะเวลาสั้น โดยมุ่งเน้นในการขยายพันธุ์ไม้ไผ่ที่ผลิตเมล็ดจำนวนน้อยหรือไม่สามารถผลิตเมล็ดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้ไผ่เศรษฐกิจ เช่น ไผ่ตง และ ไผ่เลี้ยง อย่างไรก็ดีมีผู้ศึกษาการเลี้ยงเนื้อเยื่อไม้ไผ่ไว้หลายชนิด โดยเลี้ยงส่วนของคัพภะ ส่วนของใบอ่อนและส่วนของกิ่งอ่อนที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-3 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่าไม้ไผ่เป็นพืชชนิดหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการขยายพันธุ์โดยวิธีนี้ หลังจากที่ได้กล้าไผ่จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแล้วสามารถปฏิบัติต่อกล้าเช่นเดียวกับกล้าที่ได้จากการเพาะเมล็ด เนื่องจากมีขนาดใกล้เคียงกัน

การบำรุงดูแลรักษา การบำรุงรักษาให้เหมาะสมเพื่อให้ได้รับผลผลิตอย่างสม่ำเสมอ ดังนี้

1 . การให้น้ำ ปกติจะปลูกไผ่กันในฤดูฝนอยู่แล้ว เพราะประหยัดน้ำได้มาก อาจจะไม่ต้องให้น้ำเลยก็ได้ นอกจากฝนเกิดทิ้งช่วงนานๆ จึงให้น้ำช่วย แต่หลังจากหมดฝนแล้ว ผู้ปลูกต้องคอยรดน้ำให้เสมออย่าปล่อยให้ขาดน้ำนานๆ เพราะไผ่ในปีแรกนี้ยังไม่ค่อยแข็งแรงนัก อาจตายได้โดยง่าย หลังจากอายุเกิน 1 ปี ไปแล้ว ต้นไผ่จะแข็งแรงและทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดีขึ้น
2. การใส่ปุ๋ย ในช่วงปีแรก ไผ่สามารถใช้ปุ๋ยที่คลุกเคล้าไปกับดินปลูกได้พอ ในระยะปีต่อๆ ไป จำเป็นต้องมีการไถพรวนและใส่ปุ๋ย ในระยะนี้อาจจะเห็นว่าหน่อที่แตกจะมีขนาดค่อนข้างเล็กและจะมีขนาดโตขึ้นทุกๆ ปี ถ้าความชุ่มชื้นและดินอุดมสมบูรณ์ดีพอเพียง แต่ถ้าจะให้ผลรวดเร็วควรจะให้ปุ๋ยเร่งทำให้ไผ่เกิดหน่อปริมาณมากตลอดฤดูกาล หลังจากเก็บหน่อขายบ้างแล้ว จะทำการตัดแต่งกอและไถพรวนเพื่อกำจัดวัชพืช ปกตินิยมไถพรวนในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ก่อนที่ดินจะแห้ง เพราะถ้าดินแห้งจะไถพรวนได้ยาก
การใส่ปุ๋ยจะใส่ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน ปุ๋ยที่นิยมคือปุ๋ยคอกเป็นหลัก ในอัตรา 4-6 กิโลกรัมต่อกอ หรืออาจใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 ผสมกับปุ๋ยยูเรียสูตร 46-0-0 อัตรา 2ต่อ1 ใส่ปุ๋ยเคมีที่ผสมแล้ว4-6 กำมือต่อกอ รวมกับปุ๋ยคอก จะเร่งการออกหน่อ และหน่อมีคุณภาพดี เวลาใส่ปุ๋ยเคมีระวังอย่าให้โดนหน่อจะทำให้เน่าได้ ไผ่บงหวานจะเน้นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเป็นหลัก ไม่ควรใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว จะทำให้ไผ่ทรุดโทรมเร็ว
3. การตัดแต่งกอและการไว้ลำ ไผ่บงหวาน เมื่อปลูกได้ประมาณ 1 ปี จะเริ่มแตกหน่อได้ประมาณ 8-10 ลำ ในระยะแรกนี้จะไม่มีการตัดหน่อเลย ปล่อยให้เป็นลำต่อไป การดูแลกอในช่วงนี้จะทำการตัดกิ่งแขนงเล็กๆ บริเวณโคนต้นที่ขึ้นเกะกะทิ้งไปเท่านั้น
เมื่ออายุ 2 ปี จะมีหน่อแทงขึ้นมาอีก 12-16 หน่อ ในปีนี้จะเริ่มตัดแต่งลำต้นที่เบียดชิดแน่น และคดงอรวมทั้งกิ่งแขนงเล็กๆออก หน่อที่ขึ้นมาเบียดชิดกันก็ตัดออกเช่นเดียวกัน หน่อที่เหลือปล่อยให้เป็นลำต่อไป เพราะฉะนั้นเมื่อสิ้นปีที่ 2 จะตัดแต่งให้เหลือเพียง 6-8 ลำต่อกอ หน่อที่ขึ้นมาหลังจากนี้ก็ตัดไปรับประทานหรือขายต่อไป

ไผ่บงหวาน เมื่ออายุ 2 ปี ก็มีหน่อพอที่จะตัดขายได้ ในการตัดหน่อนี้ควรจะตัดจากกลางกอก่อนแล้วขยายออกมารอบนอกกอ ซึ่งหน่อนอกๆ ต้องมีการรักษาไว้บ้างเพื่อให้เป็นลำแม่ โดยเลือกหน่อที่อวบใหญ่และอยู่ในลักษณะที่จะขยายออกเป็นวงกลมจะทำให้กอใหญ่ขึ้น มีหน่อมากขึ้นในปีต่อไป สะดวกที่จะเข้าไปดูแลรักษาและตัดหน่อ

การตัดแต่งกอนั้น ควรทำติดต่อกันทุกๆ ปีหลังการเก็บเกี่ยวในช่วงปลายฤดูฝนหรือประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่ไผ่ชะงักการเจริญเติบโตชั่วคราว การตัดแต่งกอหรือที่ชาวบ้างเรียกกันว่า ล้างกอไผ่ นั้นจะตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรคและมีแมลง ลำที่ไม่ค่อยสมบูรณ์ และลำที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปออก ตัดให้เหลือลำแม่ดีๆไว้ประมาณ 6-8 ลำต่อกอ ลำที่เหลือไว้นี้จะเป็นลำแม่ที่ค้ำจุนและบังลมให้ลำที่เพิ่งแตกใหม่ ลำที่ตัดออกนี้ให้ตัดติดดินหรือเหลืออยู่เหนือพื้นดินประมาณ 5 เซนติเมตร ไม่ให้เปลืองอาหารที่จะต้องส่งไปเลี้ยงลำพวกนี้อีก เพราะลำแก่ที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปจะแก่และแตกหน่อได้น้อย
4 . การบังคับให้เกิดหน่อมากขึ้นในการบังคับให้ ไผ่บงหวาน แทงหน่อมากขึ้นตามฤดูกาลนั้น นอกจากการใส่ปุ๋ยและปฏิบัติดูแลตามปกติแล้ว การไถพรวนแปลง ไผ่บงหวานทั้งในระหว่างแถวและระหว่างต้น โดยทำการไถพรวนในช่วงฤดูแล้ง ประมาณเดือนตุลาคม-ธันวาคม เป็นการทำลายรากแก่เพื่อให้แตกรากใหม่ ดังนั้นในการไถพรวนการให้น้ำใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยเคมี อย่างถูกต้อง จะทำให้ไผ่บงหวานออกหน่อเร็วและดก การทำให้ไผ่บงหวานออกหน่อได้ทั้งปี ทำได้เฉพาะแปลงปลูกที่มีแหล่งน้ำอย่างเพียงพอเท่านั้น

ไผ่ตงลืมแล้ง ทำความรู้จัก

ไผ่ตงลืมแล้ง เป็น อาหารอย่างหนึ่งที่ได้รับความนิยมรับประทานมาแต่โบราณ โดยใช้หน่ออ่อน หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า หน่อไม้ไผ่ตง ซึ่งมีรสหวาน นำไปแกงกับเนื้อไก่ ปลา หรือเนื้อวัว นำไปต้มจืดกระดูกหมู (เมนูนี้นิยมกันมาก) แกงเปรอะ ต้มเป็นผักเคียงใช้จิ้มกับน้ำพริกกะปิ น้ำพริกน้ำปู๋ น้ำพริกแก๋ หรือปรุงอย่างอื่นอีกมากมาย รับประทานอร่อยมาก แต่ไผ่ตงที่พบเห็นและนิยมรับประทานกันเป็นประจำนั้น ส่วนใหญ่แล้ว เปลือกหุ้มหน่ออ่อน หรือ หุ้มหน่อไม้ไผ่ตง จะมีขนสีน้ำตาลแดงปกคลุมทั่วทั้งเปลือก ทำให้เวลาจะแกะเปลือกเพื่อเอาเนื้อในไปใช้ ประโยชน์เกิดอาการรำคาญ ผู้ซื้อรับประทานจึงต้องให้ผู้ขายแกะเปลือกให้

แต่ สำหรับ “ไผ่ตงลืมแล้ง” มีลักษณะพิเศษคือ เปลือกหุ้มหน่ออ่อน จะเกลี้ยงไม่มีขนปกคลุมเลย เวลาแกะเอาเนื้อในจึงสะดวกสบายมาก เป็นไผ่ตงที่มีหน่อตลอดปี แม้น้ำท่วมต้นก็ไม่ตายทนแล้งอีกต่างหาก จะแล้งขนาดไหนยังแทงหน่ออ่อนให้เก็บรับประทาน หรือเก็บขายได้ ตลอดปี จึงถูกตั้งชื่อว่า “ไผ่ตงลืมแล้ง” (ปกติฤดูแล้งไผ่ตงจะไม่มีหน่อ) นอก จากนั้น “ไผ่ตงลืมแล้งยังเป็นหน่อไม้ที่มี กรดยูริกซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคเกาต์น้อยมาก จึงสามารถรับประทานได้อย่างเต็มที่ และที่สำคัญเนื้อไม้ หรือลำไผ่ของ “ไผ่ตงลืมแล้ง” ยังเป็นไผ่ที่มอดไม่กินอีกด้วย เวลานำไปสร้างบ้านไม้ไผ่ หรือทำเฟอร์นิเจอร์ จึงมีความทนทานได้นานกว่าไม้ไผ่ชนิดใดๆ

ไผ่ตงลืมแล้ง เป็นพันธุ์นำเข้าจากประเทศอินโดนีเซียนานกว่า 5 ปีแล้ว อยู่ในวงศ์ GRAMINEAE เป็นไม้ยืนต้นตระกูลหญ้า ต้นสูงได้กว่า 20 เมตร ลำต้นตรง เป็นข้อหรือปล้อง ขนาดของลำต้นใหญ่ เนื้อไม้หนา ยอดอ่อน หรือ หน่ออ่อนมีเปลือกหุ้มสีเขียว ไม่มีขนตามที่กล่าวข้างต้น โผล่เหนือดินเรียกว่า หน่อไม้ ไผ่ตง เนื้อในรสชาติหวานกรอบอร่อยมาก ขนาดของหน่อโตเต็มที่มีน้ำหนักเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 5-7 กิโลกรัมต่อหัว มีหน่อตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยหน่อ

การปลูก “ไผ่ตงลืมแล้ง” มีลักษณะทนต่อทุกสภาพอากาศ ทนแล้งได้ดี น้ำท่วมไม่ตาย ปลูกได้ในดินทั่วไป และมีหน่อให้เก็บรับประทาน หรือเก็บขายตลอดปี จึงเหมาะที่จะปลูกเป็นพืชครัวและพืชเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง สรรพคุณ ทางสมุนไพรของไผ่ตงทุกชนิด คือ ใบแห้ง ต้มน้ำดื่มขณะอุ่นเป็นยาขับปัสสาวะ ขับและฟอกโลหิตระดูเสียในสตรี แก้มดลูกอักเสบ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ราก ขับปัสสาวะ และ แก้ไตพิการดีมากครับ.