ไม้ไผ่พืชเศรษฐกิจ

อุตสาหกรรมไม้ไผ่ พืชเศรษฐกิจ

ในระดับอุตสาหกรรม ไม้ไผ่ใช้ทำผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายประเภทตามประโชน์ใช้สอย ได้แก่

ไผ่อัด เป็นการผสมผสานด้านการใช้ประโยชน์ระหว่างไผ่กับกาว ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความสวยงามและความทนทานของผลิตภัณฑ์แผ่นไผ่อัด ใช้ผลิตเครื่องเรือนต่างๆ และสำหรับการตกแต่งภายในอาคารบ้านเรือน และใช้เพื่อแทนไม้แบบก่อสร้าง ซึ่งมีสมบัติที่ดีคือเมื่อแห้งแล้วไม่ดูดน้ำทำให้สามารถนำมาใช้ทำแบบได้หลายครั้ง (6-8 ครั้ง มากกว่าไม้แบบเดิมซึ่งได้เพียง 2 ครั้ง)

ปี 2535 มี 4 โรงงาน คือ จังหวัดกาญจนบุรี 1 โรงงาน (หจก.อุตสาหกรรมไม้ไผ่ไทย) จังหวัดลำพูน 1 โรงงาน (หจก.นอร์เธินเอนเตอร์ไพร์สลำพูน) และที่กรุงเทพมหานครอีก 2 โรงงาน ไผ่อัดใช้ไผ่ซางนวล ไผ่ตง ซึ่งต้องมีลำไผ่ค่อนข้างโต ปล้องยาวและมีเนื้อหนา ไผ่นวลควรใช้ไผ่สดไม่มีขนตามลำต้น อายุประมาณ 2-3 ปี เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8 เซนติเมตร ความยาวประมาณ 8 เมตร ขึ้นไป ราคาประมาณ 13-15 บาทต่อลำ
เยื่อกระดาษไผ่ ไผ่เป็นพืชที่มีเส้นใยยาวมากจึงเหมาะสมต่อการนำไปใช้ทำกระดาษให้ผลผลิตเยื่อกระดาษสูงและได้กระดาษที่มีคุณภาพดี มีโรงงานที่ จังหวัดขอนแก่น (บริษัทพินิคซ์พัลพ์แอนด์เพเพอร์ จำกัด) ใช้ไผ่รวกและไผ่ป่าจำนวน 300,000 ต้นต่อปี ต้องใช้พื้นที่ในการปลูกไผ่ไม่น้อยกว่า 150,000 ไร่ แต่ส่งเสริมการปลูกได้เพียง 6,000 ไร่เท่านั้น (2535) (นอกจากนี้ยังใช้ปอและไม้ยูคาลิปต์เป็นวัตถุดิบด้วย) จังหวัดกาญจนบุรี (บริษัทสยามคราฟท์ จำกัด) รับซื้อไผ่ราคา 800 บาท/ตัน (นอกจากนี้ยังใช้ไม้ยูคาลิปตัสเป็นวัตถุดิบด้วย) จังหวัดพิษณุโลก ใช้ไผ่ทำกระดาษไหว้เจ้าส่งต่างประเทศ เป็นต้น
ไผ่รวกดัด เพื่อการส่งออกไม่มีการแปรรูปแต่อย่างใด เพียงแต่ผ่านกรรมวิธีบางอย่างเพื่อรักษาเนื้อไม้และแบ่งคุณภาพเท่านั้น โดยเสียภาษีการส่งออกเพียง 5 % ของราคาส่งออก (ไผ่ชนิดอื่น ๆ และไม้จะเสียภาษีการส่งออกถึง 40 % ของราคาส่งออก (2535)) ราคาไผ่รวกลำละ 0.70-1.50 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดและความยาว ที่เหมาะสมควรมีอายุ 1 ปีขึ้นไปเพื่อให้การอาบน้ำยาป้องกันมอดและแมลงได้ผลดี ประเทศที่ส่งไป ได้แก่ ประเทศแถบยุโรป เช่น อิตาลี เยอรมัน ซึ่งส่วนใหญ่นำไปใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตร ส่วนแถบตะวันออกกลางและปากีสถานนิยมนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการสร้างบ้านเรือน เต้นท์ทหาร กระโจมที่พัก เป็นต้น
เข่งไผ่ เป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมประเภทหนึ่งในระดับอุตสาหกรรมครัวเรือน โดยนำผิวของไผ่มาจักตอกเป็นเส้นแล้วนำมาจักสานขึ้นรูป ไผ่ที่ใช้คือไผ่รวกและไผ่นวล
ตะเกียบไผ่ ใช้ไผ่ซาง โรงงานผลิตมีที่ จังหวัดกาญจนบุรี (โรงงานเควีเอ็มเปเปอร์) และ จังหวัดลำปาง เป็นต้น เครื่องจักรทำตะเกียบมีการพัฒนาส่งเสริมโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ราคาประมาณ 8 หมื่นบาท) ทั้งนี้เพื่อลดการนำเข้าเครื่องจักรจากไต้หวัน ญี่ปุ่น ไผ่ที่ใช้คือไผ่นวล ที่มีอายุ 2-3 ปีขึ้นไป และเป็นลำใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 8 เซนติเมตรขึ้นไป (จังหวัดกาญจนบุรี มีการนำไผ่จากพม่ามาใช้ด้วย)
ไม้จิ้มฟัน เป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ใช้ไผ่ซาง มีการผลิตที่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน จังหวัดชัยนาท เป็นต้น (ไม้จิ้มฟันที่ผลิตมาจากไม้ปอ ไม้งิ้ว และยางพารา มีข้อเสียคือเปราะและหักง่าย)
ไม้ซีก เป็นการผ่าไผ่เป็นซีก ใช้ทำคอกสัตว์ หรือส่งโรงงานทำไม้จิ้มฟัน ตะเกียบ ไม้เสียบลูกชิ้น ไม้เสียบไก่ย่าง ไม้เสียบดอกไม้ เป็นต้น ไม้ซีกมี 2 ลักษณะ คือ ไผ่ผ่าซีก (จังหวัดลำปาง เรียกว่าไม้สะลาบ) โดยนำไผ่มาซอยตามยาวและตัดเป็นซีก แต่ละลำซอยได้ประมาณ 8-10 ซีก ตัดเป็นท่อน ยาวประมาณ 1-2.5 เมตร ขึ้นไป มัดหนึ่งมีไผ่ 50 ซีก โดยปกติไม้ซีก 1 มัด ใช้ไผ่ 2 ลำ ไม้ซีกอีกลักษณะหนึ่ง คือ ไม้ตะเกียบ เป็นไม้ซีกขนาดเล็ก ความยาวตั้งแต่ 30 เซนติเมตร ขึ้นไป ไผ่แทบทุกชนิดสามารถทำเป็นไม้ซีกได้ ส่วนใหญ่นิยมไผ่นวล
หัตถกรรมจักสานอื่นๆ ไผ่หลายชนิดใช้ทำหัตถกรรมเครื่องจักสานได้ ถือเป็นศิลปะพื้นบ้าน เพื่อใช้สอยในครัวเรือนของชีวิตประจำวัน เช่น กระด้งฝัดข้าว ตะแกรงร่อนข้าว ฝาชี กระบุง ตะกร้า กระจาด กระเป๋า ครุ เป็นต้น ไผ่สีสุก เป็นไผ่ที่นิยมใช้จักสานมากที่สุด โดยเลือกอายุ 2-3 ปี ซึ่งจักตอกได้ง่าย (ถ้าอ่อนเกินไปจะไม่ทนทาน ถ้าแก่เกินไปเส้นตอกจะหักง่าย) หัตถกรรมไผ่ที่ส่งออก เช่น มู่ลี่ กันแดด ที่ จังหวัดกาญจนบุรี หัตถกรรมไผ่ที่มีฝีมือประณีต ที่ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ใช้ไผ่นวล ซึ่งลำปล้องยาวถึง 1 เมตร มีเนื้อเหนียว หักยาก